หลังจากได้คุยเรื่องกะเม็งไปบ้างแล้ว วันนี้เรามาปลูกกะเม็งกันดีกว่าครับ
ตามปกติแล้ว ผมอยากใช้หัวข้อว่า "มาปลูกกะเม็งกันเถอะ" มากกว่า เพราะจะตรงตามความตั้งใจของผมคือเป็นเพียงการชักชวนและแนะนำแนวทางที่ทำได้จริงและง่าย ๆ เท่านั้น เพราะผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร แต่เนื่องจากว่าระบบค้นหาคำในกูเกิ้ลมักจะแนะนำคำสั้น ๆ ง่าย ๆ และตรงประเด็น ๆ ดังนั้นผมจึงจำเป็นต้องใช้หัวข้อนี้ เพราะถ้าเขียนบทความไปแล้วไม่มีใครอ่าน ก็ไม่รู้จะเขียนทำไม และในบทความต่อ ๆ ไป ผมก็จำเป็นต้องใช้หัวข้อห้วน ๆ เพื่อให้กูเกิ้ลค้นหาได้ง่ายนะครับ ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านก่อนนะครับ (รับทราบคร๊า....พ่อประคู๊น:ผู้อ่าน)
ผมได้ค้นหาข้อมูลจากในเน็ตแล้ว ก็พบว่ากะเม็งเป็นมักขึ้นตามที่รกร้าง เป็นวัชพืชตามแปลงถั่ว ชอบที่ชื้นแฉะ ปลูกได้โดยการเพาะเมล็ด เป็นไม้อายุสั้น โดยมีอายุ 114 วัน ซึ่งต้นหนึ่งให้เมล็ดเฉลี่ยน 15,312 เมล็ด (ที่มา:
การประชุมวิชาการของม.เกษตร ครั้งที่ 39)
อย่ารีรอกันเลย เราไปปลูกกะเม็งกันเถอะ ทิ้งตำราวิชาการทิ้งไป หาของตามมีตามได้ ตามสไตล์ของผมเองครับ (อีตาคนเขียนบล็อกนี่ท่าจะเพี้ยน แค่จะปลูกกะเม็งก็เอามาลง สงสัยว่างงานจัด:ผู้อ่าน)
ขั้นแรกต้องไปหาต้นกะเม็งก่อน (ก็แหงล่ะ:ผู้อ่าน) ผมได้กะเม็งมาจากคุณลุงเปี๊ยก ได้มา 1 ถุงหูหิ้ว ท่านบอกว่ากะเม็งมันปลูกยาก มันชอบแดดจัด ลุงลองปลูกแล้วไม่ค่อยรอดเฉาตายหมด แต่พอดีเมื่อวานลุงเพิ่งไปเก็บมาว่าจะตากแดดและบดเป็นยา ช่วงจังหวะผมไปขอเลยได้มาพอดี เมื่อกลับมาบ้าน มันค่ำแล้ว ผมเลยไม่ได้ปลูก แล้วผมมาเปิดดูข้อมูลในเน็ตแล้ว เค้าบอกว่าเป็นวัชพืชเกิดตามที่รกร้าง และชอบน้ำ เอาเป็นว่าผมเชื่อในเน็ตดีกว่าครับ แล้ววันต่อมาผมก็เริ่มปลูกครับ
1. เตรียมดิน โดยผมจะปลูกไว้ ในกระถาง (แหมทะนุทะนอมเกินไปแล้วลุง:ผู้อ่านแซว) ส่วนที่เสีย ๆ รากไม่ค่อยมี ทำท่าเหมือนพืชซึมเศร้า ผมก็เอาลงดินโลด ใครจะแซวยังไงผมก็ไม่ใส่ใจครับ เอาเป็นว่าขอให้ขึ้นเป็นพอ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมปลูกต้นไม้ หลังจากที่เคยปลูกหอมแดงตอนเรียนป.4 ผมถามชาวไร่เค้าบอกว่า การปลูกต้นไม้นั้นข้อสำคัญคือ ให้ใกล้ก๊อกน้ำ ใกล้สายยาง ถ้าไม่อย่างงั้นตายเรียบ เพราะนานไปจะขี้เกียจตามไปรด ผมก็เชื่อครับ หุหุ ^_^
2. ผมมีผู้ช่วย 2 คน เพราะผมโม้สรรพคุณไว้มาก ว่าช่วยรักษามะเร็งได้ เค้าเลยมาช่วย อิอิ!! อีกคนก็ให้คำแนะนำว่า ผมเคยไปอบรมเกษตรมา วิทยากรเค้าบอกว่า ถ้าจะเพาะพวกต้นไม้ เค้าให้เด็ดยอด เด็ดปลายออก และเด็ดใบให้เหลือน้อยที่สุดแค่ใบสองใบก็พอ หรือเด็ดออกหมดเลยก็ได้ เพราะช่วงแรกนั้นรากยังไม่เกาะกับดิน จึงไม่สามารถดูดน้ำจากดินไปเลี้ยงลำต้นได้ ถ้ามีใบอยู่ใบจะดูดน้ำจากลำต้นไปหมด ทำให้ต้นเหี่ยวแห้ง เฉา และอาจตายได้ง่าย ๆ จึงจำเป็นต้องเด็ดใบทิ้ง ถ้ารากเค้าเกาะดินแล้วเค้าจะเริ่มสร้างรากฝอยขึ้นมาเพื่อดูดน้ำและสารอาหารในดิน แล้วต่อไปเค้าจะผลิใบออกมาตามข้อ. เป็นอันว่าวิเคราะห์กันไป. ตกลงผมก็เชื่อและทำตามด้วยดีครับ โดย 1.เอาดินใส่กระถาง
โดยดินที่ผมใช้ผมไปหาตามที่ใบไม้มันกองสุมกันเยอะ ๆ และเกลี่ย ๆ ใบไม้ออก เอาแต่ดิน ไม่งั้นมันร่วนเกินไป และเลือกสีดำ ๆ ครับ เพราะว่ามีฮิวมัส(ธาตุอาหารในดิน) 2.เด็ดใบออก 3. เสียบลงดิน 4. รดน้ำ 5. วางในที่ร่ม พอมีแดดรำไร 6. ทำใจร่ม ๆ (หมายถึงทำใจเย็น ๆ เป็นภาษาคนแถวนี้ครับ)
ผมปลูกไว้ประมาณ 1 เดือนก็ออกดอกแล้วครับ เพราะต้นเก่าเค้าก็มีดอกอยู่แล้ว
ต้นกะเม็งที่ปลูกไว้ในกระถางครับ ใบเขียวชอุ่มดีครับ
ต้นกะเม็งที่ไม่สวย ไม่ค่อยมีราก เหมือนจะตาย ผมจึง
เอาลงดินไว้ มีทั้งตัวเมียและตัวผู้ครับ
นึกว่าจะตายบ้างแต่ก็รอดหมดทุกต้นนะครับ ไม่น่าเชื่อ สังเกตดูก้านเล็ก ๆ ไม่ถึงคืบ
รากก็ไม่ค่อยมี เพราะเค้าเอามาเพื่อจะบดเป็นยาแต่ผมไปขอมาก่อน
เอามาเสียบลงดินก็ปรากฎว่ารอดครับ
อันนี้เป็นกะเม็งที่เป็นกลุ่ม ๆ ผมก็เด็ดยอด เด็ดใบออก ไม่ทิ้งนะครับ เอาไปตากแดด ให้แห้งสนิท
แล้วนำไปบดเป็นยา ส่วนก้านก็เอามาเพาะลงดินต่อ ก็รอดครับ อยู่ยงคงกระพันกันดี
ผลิใบแล้ว น่ารักน่าชังดีครับ
3. พอดีผมไปอ่านเจอบทความในเน็ตว่า คนเป็นโรคไตให้ใช้กะเม็ง ตัวเมีย และตัวผู้ ผมจึงหากะเม็งตัวผู้มาปลูกเพิ่ม หาได้ง่ายกว่าตัวเมียครับ และปลูกง่ายกว่ามาก ขอแค่ให้ข้อโดนดินเท่านั้นมันก็จะขึ้นเองครับ เลื้อยไปเรื่อย ครับ
ลักษณะของกะเม็งตัวผู้จะต่างจากตัวเมีย เค้าจะเลื้อยไปตามดินครับ
ดอกกะเม็งตัวผู้ ของผมยังไม่ออกดอกนะครับ ภาพนี้เอามาจากเน็ตครับ
สรุปว่ากรรมวิธีนี้ก็ได้ผลครับ เห็นกะเม็งออกดอกขาวบริสุทธิ์ก็ชื่นใจครับ ถ้าใครรีรอที่จะปลูก ไม่ต้องรอแล้วครับ ปลูกเลยครับ ของดี แต่ถ้าใครอยากได้เมล็ดลองสั่งจองไว้ก่อนได้ครับ แต่ยังไม่รับปากว่าจะส่งให้นะครับ แต่จะพยายามครับ
ขอบคุณทุกท่านที่อุตส่าห์เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกกันนะครับ หวังว่าคงจะพอเป็นแนวทางการปลูกกะเม็งหรือพืชสมุนไพรอื่น ๆ ให้กับผู้ที่สนใจบ้างไม่มากก็น้อยครับ
ปล.ผมเพาะกะเม็งไว้ประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะเขียนบทความนี้ครับ
6 ส.ค. 55 ขออัพเดทบทความครับ
พอดีช่วงที่ผ่านมาพายุวิเซนเต้เข้าทำให้ฝนตกติดต่อกันเป็นอาทิตย์
ทำให้ดอกกะเม็งร่วงหมด ผมก็ตั้งหน้าตั้งตาคอย เมื่อพายุผ่านไปแล้วก็พยายามรดน้ำไม่ให้โดนดอก
พอดีวันนี้แดดออกดีได้เ็ห็นเมล็ดเป็นสีดำและเริ่มร่วงแล้ว ดีใจมาก รวมระยะเวลาตั้งแต่ปลูกก็ประมาณ 1 เดือนครึ่ง
ผมถือโอกาสนำภาพมาให้ดูกันนะครับ ตามตำราเค้าบอกว่าช่วงที่ออกดอกจนถึงเวลาบานใช้เวลาประมาณ 14 วัน แต่ช่วงบานจนเป็นเมล็ด เค้าไม่ได้บอกไว้ ผมกะ ๆ เอาก็คงประมาณ 3-5 วันครับ รวดเร็วทันใจดีมากครับ คงต้องพักเมล็ดไว้สัก 1 เดือนก่อน แล้วผมจะเอาเมล็ดมาเพาะ ถ้าได้ผลยังไงผมจะมาอัพลงบล็อกอีกทีนะครับ
ต้นกะเม็งที่ผมปลูกไว้ในกระถางครับ ภายใต้ร่มไม้ มีแสงรำไรครับ
อภิบายภาพ 1-2.ดอกบาน 3.กลีบดอกร่วง
4.เมล็ดเป็นสีเขียว 5.เมล็ดแก่จัดเป็นสีดำ
ภาพเมล็ดพันธ์กะเม็งชัด ๆ ครับ
จะสังเกตเห็นว่าเมล็ดเป็นสีดำแสดงว่าแก่จัดและร่วงลงบ้างแล้ว สามารถนำไปเพาะได้
แต่คงต้องรอเมล็ดพักตัวสัก 1 เดือนก่อน ส่วนทางขวาคือคือเมล็ดกะเม็งที่กลีบดอกร่วงหมดแล้ว
รอเวลาแก่จัดและจะเปลี่ยนเป็นสีดำต่อไป
19 พ.ย. 2555
ขออัพเดทบทความครับ
การเพาะกะเม็งด้วยเมล็ด
หลังจากที่กะเม็งมาปลูกได้ระยะหนึ่ง จนออกดอกและเป็นเมล็ด ผมก็เก็บเมล็ดมาเรื่อย ๆ ไม่ได้ปล่อยให้หล่นเองตามธรรมชาติ
ผมลองไปถามคนสูงอายุ ท่านบอกว่า มันปลูกง่าย แค่หว่าน
ๆ ทิ้งไว้ตามที่น้ำแฉะ ๆ หน่อย เดี่ยวมันก็ขึ้นเอง ผมก็เชื่อ จึงลองหว่านไว้ในแปลงผักลิ้นห่านดู
เผื่อว่าจะขึ้นบ้าง หว่านแล้วก็ลืมไปเลย ตอนนี้เวลาผ่านไป 3 เดือน พอดีก็พบว่า
ต้นกะเม็งงอกขึ้นมา ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเพียงวัชพืชเท่านั้น
31 ต.ค. 55 กะเม็งต้นน้อย ๆ
งอกในแปลงลิ้นห่าน
หลังจากที่โรยเมล็ดทิ้งไว้เป็นเวลา 3 เดือน
เข้าไปดูใกล้ ๆ .. อย่างนี้ใช่เลย
กะเม็งตัวจริงดอกจริงแน่นอน
ผ่านไปอีก 15 วัน ก็โตจนมีดอก
กว่าจะโผล่พ้นดินออกมาได้ รอตั้งนาน
แต่แหม..เผลอแพล็บเดียว ออกดอกขาวเชียว
ปล. ถ้าอยากขยายภาพ ให้คลิ๊กที่รูปนะครับ
ลิ้งค์บทความที่เกี่ยวข้อง
1.
ชีววิทยาของกะเม็ง การประชุมวิชาการของม.เกษตร ครั้งที่39
2.
กะเม็งสมุนไพรที่ไม่ควรมองข้าม โดยศูนย์สมุนไพรทักษิณ
3.
สมุนไพรปราบมะเร็ง บล็อกของยาอมตะเองครับ
4. การเล่าเรื่องย้อนอดีตในวรรณกรรมของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ มีเรื่องสรรพคุณของกะเม็ง ตั้งแต่หน้า 87 ดีมาก